วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

'เอสเอ็มเอส' เสี่ยงโชค...!!!ภัยร้ายใหม่ใกล้ตัวเด็ก
วันพุธ ที่ 20 กรกฎาคม 2554 เวลา 0:00 น
คุณมีสิทธิ์ลุ้นรับ.....พิมพ์ A2 ส่งมาที่ 24177XX ข้อความละ 6 บาท ประโยคเหล่านี้ถูกเผยแพร่และส่งต่อผ่านทางระบบเอสเอ็มเอสของระบบโทรศัพท์มือถือหลากหลายเครือข่าย ที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้รับข้อความเหล่านี้ หากเป็นผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าเป็นการเสี่ยงโชคธรรมดาลองส่งกลับดู ถ้าไม่ได้ก็เสียตังค์แค่ 6 บาท และจะไม่ส่งอีก หรือบางคนก็อาจลบข้อความทิ้งไป แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือ เด็กๆ ที่ยังไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกรับสารที่ถูกส่งต่อนี้ จึงทำให้มีเด็กจำนวนมากตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงินไปนักต่อนักกับธุรกิจนี้!
ไม่เพียงแต่ประโยคในลักษณะดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในระบบเอสเอ็มเอสของโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ในหลายรายการของฟรีทีวี เคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ตก็มีข้อความในลักษณะเดียวกันเชิญชวนให้เข้าไปเสี่ยงโชค จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จึงได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการปกป้องเด็กและเยาวชนจากสถานการณ์การเสี่ยงโชคผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ หรือ เอสเอ็มเอส” เพื่อหาทางออกให้กับเด็กวัยรุ่น
นักวิจัยโครงการสำรวจสถานการณ์การเสี่ยงโชคทางโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ได้ศึกษาพบว่า บริการเอสเอ็มเอสเสี่ยงโชคนั้นจากการคิดค่าบริการจำนวนเงินครั้งละ 6 บาทต่อการเสี่ยงโชค 1 ครั้งจะถูกแบ่งให้ผู้รับข้อความของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 50 เปอร์เซ็นต์หรือครั้งละ 3 บาท และอีก 1.5 บาทจะถูกส่งต่อไปยังบริษัทที่ดูแลระบบและที่เหลือจะถูกส่งไปยังเจ้าของกิจการที่คิดการเสี่ยงโชคโดยเอสเอ็มเอสนี้ขึ้นมา
จากข้อมูลสถิติเมื่อครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกมีการส่งเอสเอ็มเอสเข้าร่วมชิงโชคเป็นจำนวนเงินมากถึง 60 ล้านบาท จึงชี้ให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการสมัครเอสเอ็มเอสเหล่านี้โดยไม่ตั้งใจขั้นต่ำ 30 บาทต่อ 1 ครั้ง ซึ่งระบบของการเชิญชวนจะเริ่มด้วยข้อความที่กระตุ้นความอยากของผู้คนโดยใช้วัตถุเป็นสิ่งเร้า และเมื่อผู้ใช้บริการหลวมตัวกดพิมพ์ข้อความเข้าไปแล้วจะมีข้อความกระตุ้นกลับมาเป็นระยะ ๆ ว่าผู้ใช้บริการใกล้จะได้รับรางวัลแล้วให้พิมพ์ข้อความเข้าไปประมูลต่ออีก
แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือ วัยของผู้ใช้บริการที่จะร่วมเสี่ยงโชคในรูปแบบเอสเอ็มเอสนั่นคือ เด็ก ซึ่งถือเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงมากเนื่องจากเด็กหวังรางวัลล่อใจ หากผู้ปกครองดูแลไม่ทั่วถึงนอกจากจะทำให้เด็กเสียเงินแล้วยังซึมซับนิสัยการติดพนันโดยไม่รู้ตัว พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า เด็กที่มีพฤติกรรมติดเอสเอ็มเอสเสี่ยงโชคจะคล้าย ๆ กับเด็กติดเกม ติดการพนัน มักจะมีอารมณ์หงุดหงิด หากได้เล่นแล้วก็จะเล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าแพ้หรือไม่ได้ตามที่ตัวเองตั้งใจไว้ก็จะผิดหวังรุนแรง อาจถึงขั้นทำลายข้าวของและเด็กไม่มีเงินเป็นของตัวเองยิ่งถูกพ่อแม่ห้าม อาจจะพูดจาหยาบคายและแสดงอาการไม่พอใจ
ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีเวลาสังเกตลูกด้วย เช่น หมกมุ่นไม่รับประทานอาหาร ชอบแยกตัว ในเด็กบางกลุ่มมีการใช้เงินมากขึ้น ใส่ใจการเรียนน้อยลง จากเดิมอารมณ์ดีกลับเปลี่ยนเป็นคนหงุดหงิดง่าย เข้าสังคมกับเพื่อนน้อยลง หากเป็นเช่นนี้พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญกับลูกมากขึ้นด้วยการระงับสิ่งที่จะมากระตุ้นหรือเร้า จากนั้นพูดคุยและตั้งกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนถึงการเล่นดังกล่าว รวมทั้งหากิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจแนะนำให้ลูก ๆ เล่น แต่หากเป็นรุนแรงมากควรพบแพทย์เพื่อทำการบำบัดป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ให้ข้อมูลด้านกฎหมายเพิ่มเติมว่า การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนการชิงโชคที่ผู้จัดไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนถือเป็นกรณีการส่งเสริมการขายสินค้า ซึ่งต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การพนันและต้องทำตามเงื่อนไข เช่น การให้รายละเอียดที่ครบถ้วนแก่ผู้บริโภค และที่สำคัญผู้จัดชิงโชคต้องไม่ได้รับผลประโยชน์จากการชิงโชค เช่น กรณีเอสเอ็มเอสชิงโชค หากผู้จัดได้รับส่วนแบ่งจากค่าบริการเอสเอ็มเอส ถือเป็นการพนันที่ผิดกฎหมายทันที
ส่วนกรณีที่บริษัทมือถือคิดค่าส่งเอสเอ็มเอสชิงโชคแพงกว่าค่าส่งเอสเอ็มเอสปกติทั่วไปทั้งที่เป็นบริการส่งข้อความลักษณะเดียวกัน อาจผิดกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ห้ามเรียกเก็บค่าบริการแตกต่างกันสำหรับบริการลักษณะและประเภทเดียวกัน ดังนั้นกรณีนี้บริษัทมือถือต้องชี้แจงให้ได้ว่าเหตุใดจึงเก็บค่าบริการเอสเอ็มเอสชิงโชคแพงกว่าปกติ
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าเจ้าของโทรศัพท์มือถือเกินกว่าครึ่งของจำนวนประชากรไทย 60 ล้านคน ได้รับเอสเอ็มเอส ประเภทนี้และในจำนวนนี้มี 4 เปอร์เซ็นต์หรือคิดเป็น 2.4 ล้านคนที่จะเล่นเสี่ยงโชคเป็นประจำ ถ้าลองคำนวณดูว่าหากเราส่งเอสเอ็มเอสกลับไปครั้งละ 6 บาท จะคิดเป็นเงินประมาณ 7-14 ล้านบาทที่บริษัทจะได้รับ ซึ่งถือว่ามีมูลค่ามากกว่ารางวัลที่นำมาแจกเสียอีก เช่น โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ไอโฟน 1 เครื่อง จึงอยากฝากเตือนว่าให้ระมัดระวังตัวไม่หลงเชื่อ...