วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ราชพาหนะ - เครื่องบินโบอิ้งพระราชพาหนะ ลำที่ 2 ไปจอดยังสนามบินมิวนิก ประเทศเยอรมนี เพื่อทดแทนลำแรกที่ถูกอายัดไว้ ล่าสุดบริษัทวาลเทอร์ บาว เคลื่อนไหวเพื่ออายัดเครื่องบินลำใหม่นี้ด้วย

สื่อต่างประ เทศตีข่าวบริษัทเยอรมันอาละวาดไม่เลิก เตรียมจะอายัดเครื่องบินลำที่ 2 ของไทย ระบุมาจอดอยู่ที่เมืองมิวนิกแล้ว เพื่อทดแทนโบอิ้ง 737 ที่ถูกอายัดไปแล้ว ทางด้านอัยการสูงสุดของไทยยัน ประสานให้เยอรมันทราบแล้ว เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ "มาร์ค"โวยไม่มีเหตุผลจะมาอายัดเครื่องบินอีกลำ เผยฝ่ายไทยเตรียมดำเนินการทางกฎหมายกับ"วาลเทอร์ บาว" ลักษณะใช้สิทธิ์ไม่สุจริต "ดอนเมืองโทลล์เวย์"ออกแถลงการณ์ ชี้บริษัท ไม่ได้ทำผิด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอายัดโบอิ้ง ของ"วาลเทอร์ บาว" ถ้าถูกกรมทางหลวงฟ้องร้อง ถือว่าไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. รอยเตอร์รายงานบทสัมภาษณ์นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทวาลเทอร์ บาว (Walter Bau) ซึ่งมีข้อพิพาททางธุรกิจกับรัฐบาลไทย ที่เผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ บิลด์ อัม ซอนน์ทาก (Bild am Sonntag) ของเยอรมนี ระบุว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ บริษัทวาลเทอร์ บาว เตรียมดำเนินการอายัดเครื่องบินลำที่ 2 ของ ไทย
"เรากำลังพิจารณาขั้นตอนต่อไปกับกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงการอายัดเครื่องบินลำที่ 2 ของไทยด้วย" นายชไนเดอร์ กล่าว
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ บิลด์ อัม ซอนน์ทาก ยังรายงานด้วยว่า เครื่องบินลำที่ 2 ของไทย บินถึงเมืองมิวนิกแล้ว เพื่อนำไปแทนที่เครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่ถูกอายัดไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมาศาลเยอรมัน ได้มี คำสั่งให้ไทยวางเงินประกันจำนวน 20 ล้านยูโร หรือราว 850 ล้านบาท เพื่อแลกกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่ถูกอายัดไว้ ตามการยื่นคำร้องของบริษัทวาลเทอร์ บาว แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธที่ จะวางเงินประกันดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าเครื่องบินโบอิ้ง 737 ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทย
นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เปิดเผยที่ จ.ภูเก็ต กรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าจะมีการอายัดเครื่องบินอีกหนึ่งลำว่า เป็นเรื่องของคนมืออยู่ไม่สุข ยืนยันว่ายังไม่มีการยึดเครื่องบินลำที่ 2 แต่อย่างใด และได้มีการประสานไปกับทางทนายความที่ทำหน้าที่อยู่ที่เยอรมัน ชี้แจงไปยังหน่วยงานบังคับคดีของเยอรมันแล้วว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ซึ่งมีหลักฐานการซื้อขายชัดเจน ส่วนของเครื่องบินส่วนพระองค์โบอิ้ง 737 ลำแรกที่มีการอายัดไว้นั้น ถือว่าการพิจารณายังไม่สิ้นสุด โดยศาลเยอรมนีมีคำสั่งเบื้องต้น เชื่อว่าเครื่องบินสัญชาติไทยที่ถูกอายัดอยู่ เป็นเครื่องบินที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย ซึ่งจะมีการพิจารณาของศาลอีกครั้ง คาดว่าจะเป็นการพิจารณาอย่างเต็มรูปแบบ ในเดือนส.ค.นี้
เมื่อเวลา 10.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีสื่อมวลชนของประเทศเยอรมนี ระบุว่าจะมีการอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ลำที่ 2 ที่จอดอยู่ท่าอากาศยานของเยอรมนีว่า ไม่มีเรื่องนี้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ชี้แจงเรื่องนี้แล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะอายัดเครื่องบินลำดังกล่าว เพราะเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และคดีทั้งหมดเป็นเรื่องของบริษัท วาลเทอร์ บาว กับรัฐบาลไทย ซึ่งอัยการสูงสุดกำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์ อีกทั้งมีข้อมูลที่จะใช้ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทนี้ต่อไปด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ายังมีความพยายามอายัดเครื่องบินของรัฐบาลไทยอย่างนี้ จะเกิดปัญหากับเครื่องบินของการบินไทยที่บินไปเยอรมนีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จากการสอบถามไปนั้น เห็นว่าเครื่องบินของการบินไทยไม่น่ามีปัญหา เพราะเป็นของบริษัท และอัยการสูงสุดดูเรื่องนี้ด้วย
เมื่อถามว่าวาลเทอร์ บาว จะอ้างได้หรือไม่ว่าของการบินไทยถือเป็นของรัฐบาลไทย เพราะรัฐบาลไทยถือหุ้นใหญ่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องมาว่ากันที่เรื่องหุ้น แต่คิดว่าไม่มีปัญหา และขอย้ำว่าคดีนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ซึ่งอัยการสูงสุดยืนยันกับตนว่าขณะนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์ของวาลเทอร์ บาวที่ไม่สุจริต และอัยการ สูงสุดกำลังเตรียมการด้านกฎหมายไปได้ร้อยละ 90 แล้ว ซึ่งเราจะดำเนินการกับบริษัทนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้คดีที่เยอรมนีจบก่อน โดยคาดว่าอัยการสูงสุดจะพิจารณารูปแบบการดำเนินการกับบริษัทดังกล่าวเสร็จภายในสัปดาห์นี้ กรณีนี้แยกจากการยื่นอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้อัยการสูงสุดน่าจะมารายงานเรื่องการดำเนินการกับบริษัทดังกล่าวได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งตนจะสอบถามถึงเรื่องของเวลาและรูปแบบอีกครั้ต่อข้อถามว่าขอบเขตจะจำกัดอยู่แค่บริษัทวาลเทอร์ บาว หรือรวมถึงบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่ต้องมารับผิดชอบด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า น่าจะแค่วาลเทอร์ บาว เพราะเป็นเรื่องการใช้สิทธิ์ของเขา ซึ่งเกี่ยวข้องความสัมพันธ์ระหว่างกันของ 2 บริษัทนี้กับตัวสัญญาทั้งหมดที่จะเป็นจุดที่ทำให้มีการใช้สิทธิ์ ส่วนเนื้อหาจะพันไปถึงใครบ้างนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
วันเดียวกัน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ออกแถลงการณ์ว่า ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ที่ว่ากรมทางหลวงจะฟ้องร้องดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯ ดังนี้ ดอนเมืองโทลล์เวย์เป็นนิติ บุคคลไทย ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ฝ่ายไทยของดอนเมืองโทลล์เวย์กับบริษัท Walter Bau AG มีความขัดแย้งด้านการบริหารงานดอนเมืองโทลล์ เวย์ในอดีตมาโดยตลอด เพราะดอนเมืองโทลล์ เวย์ไม่ประสงค์จะฟ้องร้องกรมทางหลวงในฐานะคู่สัญญาสัมปทานฯ แต่บริษัท Walter Bau AG มีความประสงค์ที่จะให้ดอนเมืองโทลล์ เวย์ใช้สิทธิ์ฟ้องร้องกรมทางหลวง แต่ดอนเมืองโทลล์เวย์ปฏิเสธ เพราะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่ เห็นด้วย และบริษัท Walter Bau AG ก็ไม่สามารถดำเนินการในนามดอนเมืองโทลล์เวย์ได้ จึงใช้สิทธิของตนในฐานะนักลงทุนเยอรมัน ยื่นข้อเรียกร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยอ้างว่าตนเป็นผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของรัฐบาลไทยในการลงทุนโครง การทางยกระดับดอนเมืองที่ดอนเมืองโทลล์เวย์เป็นผู้รับสัมปทาน โดยในการยื่นฟ้องรัฐบาลไทยดังกล่าว บริษัท Walter Bau AG ได้อ้างสิทธิตามสนธิสัญญาคุ้มครองการลงทุนไทย-เยอรมัน
นอกจากนี้ การที่ข่าวนี้ได้นำเสนอต่อไปว่า กรมทางหลวงจะพิจารณาฟ้องร้องดอนเมืองโทลล์ เวย์นั้น จะไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อภาครัฐ เพราะไม่สามารถทำให้คดีฟ้องร้องระหว่างบริษัท Walter Bau AG กับรัฐบาลยุติลงได้ รวมทั้งไม่สามารถทำให้ค่าเสียหายที่คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสิน ให้รัฐบาลไทยชำระให้แก่ บริษัท Walter Bau AG ประมาณ 29 ล้านยูโรลดลงได้ นอกจากนั้น ดอนเมืองโทลล์เวย์มิได้กระทำผิดในเรื่องใด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้รับประโยชน์ใดๆ จากคดีที่บริษัท Walter Bau AG ฟ้องร้องรัฐบาลไทย