วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พิจิตร - เหยื่อไข้เลือดออกพิจิตรตายเพิ่มอีก 1 แล้ว รวมยอกผู้เสียชีวิตสะสม 3 ราย ระบุ 7 เดือนปีนี้มีผู้ป่วยมากกว่าพันคน

วันนี้ (29 ก.ค.54) นายประจักษ์ วัฒนะกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในจังหวัดพิจิตร จนส่งผลให้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เพียงแค่ 7 เดือนของปีนี้ มีประชาชนทุกเพศทุกวัยป่วยด้วยไข้เลือดออกขอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐแล้วเป็นจำนวนผู้ป่วยสะสมมากถึง 1,024 คน

ล่าสุดวันนี้พบเด็กชายอายุ 4 ปี 11 เดือน เป็นชาวอำเภอดงเจริญ มีอาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มีไข้สูงตัวร้อนจนเกิดอาการชัก และขอเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพิจิตร แต่อาการรุนแรงมากเกินกว่าที่จะรักษาได้ทัน จึงทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย

จนส่งผลให้ในขณะนี้จังหวัดพิจิตรมีผู้เสียชีวิตยอดสะสมแล้วเป็นจำนวน 3 ราย คือรายแรกเป็นเด็กหญิงวัย 7 ปี ชาวอำเภอสามง่าม รายที่สองเป็นเด็กหญิงวัย 17 ปี ชาวอำเภอทับคล้อ และรายที่สาม ล่าสุดนี้ คือ เด็กชายวัย 4 ปี 11 เดือน ชาวอำเภอดงเจริญ ดังกล่าว

ในส่วนของแนวทางการแก้ไขและป้องกัน วันนี้(29 ก.ค.)ที่ศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เทศบาลตำบลเนินปอร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร จัดประชาคมหมู่บ้านป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยมีนายเอกวัฒน์ อินทรกูล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเนินปอร่วมกับนายประพันธ์ศักดิ์ เสือนาราง สาธารณสุขอำเภอสามง่าม ร่วมกันจัดประชาคมหมู่บ้านจากราษฎรในตำบลเนินปอ เพื่อขอร่วมลงมติในการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก

หลังจากพบว่าในพื้นที่ตำบลเนินปอ พบเด็กหญิงวัย 7 ปี ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกและมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตเป็นรายแรกของตำบลในปีนี้

โดยเทศบาลตำบลเนินปอและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รวมถึงประชาชนชาวตำบลเนินปอ ได้มีมติประชาคมหมู่บ้าน ว่า บ้านเรือน ที่พักอาศัยทุกหลังคาเรือนจะต้องมียากันยุงหรือยาฉีดยุงครัวเรือนละ 1 กระป๋อง และทุกหลังคาเรือนจะต้องนำมาตรการ 4 ป ของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดมาตรการปราบปรามไข้เลือดออกมาปฏิบัติทุกหลังคาเรือน คือ

ป.ที่ 1 การปิดฝาพาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายสามารถเพาะพันธ์ลูกน้ำได้ มาตรการ ป.ที่ 2 คือ การเปลี่ยนน้ำในพาชนะ ทั้งแจกันดอกไม้บ่อยๆ เพื่อไม่ให้ยุงสามารถวางไข่ได้ มาตรการ ป.ที่ 3 ปล่อยปลาหางนกยุงลงในอ่างบัวหรืออ่างน้ำต่างๆ เพื่อให้ไปกินลูกน้ำยุงลายและมาตรการสุดท้าย การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม หมั่นคว่ำทำลายแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

นายประพันธ์ศักดิ์ เสือนาราง สาธารณสุขอำเภอสามง่าม กล่าวว่า นอกจากนี้ อสม.ในพื้นที่ตำบลเนินปอจะต้องไปรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนทุกหลังคาเรือน เพื่อให้ช่วยกันควบคุม ป้องกันและปราบปรามทำลายแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก ให้จำนวนผู้ป่วยลดลงและไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมในพื้นที่รวมถึงยุติการระบาดที่รุนแรงเช่นปีนี้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เทศบาลร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หมั่นคอยออกไปตรวจสอบการปฏิบัติประชาคมหมู่บ้านทุกหลังคาเรือนสัปดาห์ละ 1 ครั้งด้วย

และเทศบาลตำบลเนินปอ ยังได้ปูพรม ฉีดพ่นหมอกควัน กวาดล้างคว่ำทำลายพาชนะชนิดต่างๆ ที่มีน้ำแช่ขังและเป็นแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายแบบครบทุกหลังคาเรือนในเขตเทศบาลตำบลเนินปออย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วันนี้ 28 กรกฎาคม 54 ไปจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2554