วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

“30จว.”จมบาดาล3ล้านคนทุกข์ระทม


]


วันนี้ (8 ต.ค.) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะรอง ผอ.ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และ จ.ตาก รวม 218 อำเภอ 1,498 ตำบล 10,747 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 762,765 ครัวเรือน 2,342,123 คน

ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 253 ราย สูญหาย 4 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 8,642,399 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 123,824 บ่อ สัตว์ได้รับผลกระทบ 9,956,723 ตัว น้ำท่วมเส้นทาง ไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 214 สาย แยกเป็นทางหลวง 60 สาย ใน 17 จังหวัด ทางหลวงชนบท 154 สาย ใน 28 จังหวัด

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง ที่อำเภอบรรพตพิสัย จ.นครสรรค์ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย จ.นครราชสีมา อำเภอสตึก อำเภอลำปลายมาศ อำเภอกระสัง จ.บุรีรัมย์ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ อำเภอเมือง จ.ศรีสะเกษ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอเมือง จ.ขอนแก่น อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเมือง จ.มหาสารคาม อำเภอจังหาร อำเภอทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด อำเภอเมือง อำเภอมหาชนะชัย จ.ยโสธร ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่อำเภอเมือง จ.อุทัยธานี ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอเมือง อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี จ.นครปฐม

ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 4,650 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณไหลผ่าน 3,651 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,204 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 135 เปอร์เซ็นต์

นายวิบูลย์ กล่าวเตือนว่า ในระยะนี้ร่องมรสุมพาดผ่านพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ทำให้มีฝนตกเกือบทั่วไป และฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยที่ราบลุ่มริมน้ำ ใกล้ทางน้ำไหลผ่านใน 12 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครนายก นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ขอให้ประชาชนระมัดอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก และน้ำล้นตลิ่ง

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำพบว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างยังค่อนข้างวิกฤต ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ศอส.จึงได้กำชับให้จังหวัดพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคกลางตอนล่าง เตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าขั้นวิกฤติ โดยเร่งเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น พร้อมตรวจสอบคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันคันกั้นน้ำพัง ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ที่อยู่ในแนวเขตป้องกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประชาชนผู้ประสบภัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ทางสายด่วนต่าง ๆ ดังนี้ เส้นทางหลวงแผ่นดิน 1586 รถไฟ 1690 ตำรวจทางหลวง 1193 ขอรับการช่วยเหลือทางการแพทย์ 1669 ขอความช่วยเหลือจากเหตุสาธารณภัย สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง.