วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

มันเทศญี่ปุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

พบแล้ว “มันเทศ” เปื้อนกัมมันตรังสี อย.เตรียมหาวิธีทำลาย-จ่อปลาทะเลคาด 2 สัปดาห์เข้าไทย

28 มีนาคม 2554 15:17 น.

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
       พบแล้ว! มันเทศญี่ปุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อย.สั่งระงับการจำหน่ายแล้ว  ยันต้องหารือร่วมสำนักปรมาณูฯ เพื่อหาวิธีทำลาย แม้ปริมาณสารยังต่ำกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดก็ตาม  เร่งเตรียมพร้อมตรวจปลาทะเลหลังพบกัมมันตรังสีปนเปื้อนน้ำทะเลในญี่ปุ่นสูง หลายเท่าตัว คาดจะมาถึงไทยอีก 2 สัปดาห์
      
             วันนี้ (28 มี.ค.)  นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า  จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้เร่งตรวจสอบอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.- 27 มี.ค.และได้รับรายงานผลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทั้งหมด 94 ตัวอย่าง  แบ่งเป็นปลาสด 65   ตัวอย่าง หอย 6 ตัวอย่าง กุ้ง 4 ตัวอย่าง ปลาหมึก 6 ตัวอย่าง สาหร่าย 1 ตัวอย่าง มันเทศ 3 ตัวอย่าง แอบเปิล 1 ตัวอย่าง สตรอเบอร์รี 4 ตัวอย่าง  ลูกพลับแห้ง 1 ตัวอย่าง แป้งสาลี  2 ตัวอย่าง และผักกาดดอง 1 ตัวอย่าง   พบว่า มีมันเทศ  1 ตัวอย่างที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี  (ไอโอดีน 131 )  แต่พบอยู่ในระดับ 15.25 เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งไม่ได้เกินมาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือ  100  เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม  ทั้งนี้ อย.ได้ระงับรายการดังกล่าว ไม่ให้มีการกระจายและจำหน่ายแล้ว
      
       
      
                ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ  อย.   กล่าวว่า สำหรับตัวอย่างมันเทศที่ตรวจพบนั้นมีจำนวน 75 กิโลกรัม ซึ่งมาจากจังหวัดอิบารากิ  บนเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศเตือน  ทั้งนี้ อย.ได้สั่งระงับการนำเข้าของสินค้าดังกล่าวตั้งแต่วันที่  25  มี.ค.แล้ว  หลังจากสำนักปรมาณูฯได้รายงานผลมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค.
      
       “ขั้นตอนต่อไปทาง อย.จะต้องเร่งหารือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเพื่อหาวิธี การทำลายทิ้งต่อไป แต่ระหว่างนี้ก็จะยังมีการตรวจสอบดูระดับปริมาณของสารไอโอดีน 131  ว่า ลดน้อยลงหรือไม่ เนื่องจากสารชนิดนี้มีช่วงชีวิตของตัวเอง โดยทุกๆ 8 วันปริมาณสารจะลดลงครึ่งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการทำลายทิ้งอยู่ดี เพื่อเป็นการป้องกัน แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะน้อย ไม่ถือเป็นอันตรายก็ตาม” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
      
                 ต่อข้อถามว่า  ขณะนี้พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในน้ำทะเลของญี่ปุ่นในปริมาณสูงหลายเท่า ตัว อย.จะมีมาตรการตรวจเข้มอาหารทะเลหรือไม่  นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า โดยหลักการหากมีการปนเปื้อนในน้ำทะเล การกระจายจะดีมาก ซึ่งอาหารทะเลที่จะได้รับผลกระทบมักเป็นปลาทะเลชายฝั่งมากกว่าปลาทะเลน้ำ ลึก  แต่ อย.มีวิธีการสุ่มตรวจอยู่แล้ว  ซึ่งส่วนใหญ่ไทยจะนำเข้าปลาซาบะ และปลาเมคคาเรล ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ต้องวิตกกังวล เบื้องต้นคาดว่าหากจะได้รับผลกระทบจริงๆ น่าจะอีกประมาณ 2 อาทิตย์ไปจนถึง 1 เดือน