จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่ออายุราชการให้ธาริตออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2556-18 ก.ย. 2557 หลังดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี
ธาริตย้ายจากตำแหน่งเลขาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อกลางเดือน ต.ค. 2552 และร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ล้างบางเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ในสมัยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
จนกระทั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดกระแสข่าวธาริตอาจจะถูกย้ายไปอยู่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงข่าวลือเพราะสามารถนั่งบัลลังก์ดีเอสไอได้อย่างคงกระพัน
นับจากนั้นเป็นต้นมาธาริตทำผลงานเข้าตารัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่รัฐบาลใช้ดีเอสไอเป็นอาวุธหนักถล่มพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)|อยู่หลายคดี
เริ่มตั้งแต่ 1.คดีสั่งการสลายการชุมนุม ปี 2553 มีประชาชนเสียชีวิต 98 คน ที่มี อภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นผู้ต้องหา ซึ่งอัยการสั่งเลื่อนคดี โดยหากเห็นสั่งฟ้องก็ยังไม่สามารถฟ้องได้ เพราะอยู่ในสมัยประชุมสภา
ในขณะที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่ง 6 คน ที่วัดปทุมวนารามเสียชีวิตจากปืนของทหาร และไม่มีชายชุดดำในที่เกิดเหตุ
2.คดีทุจริตสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง คดีและทุจริตสร้างแฟลตตำรวจ ตามรายภาคที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัทที่ได้ประมูล คือ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดเป็นปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยเป้าพุ่งเข้าหาเทพเทือกในฐานะรองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น รวมถึงอภิสิทธิ์ฐานะนายกรัฐมนตรี ในข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต มาตรา 157
ทั้งนี้ ดีเอสไอได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประเด็นการปลอมลายมือของผู้กำกับโรงพักยังอยู่ระหว่างการสอบสวนอยู่
ส่วนเรื่องการรวมสัญญาการสร้างโรงพักทดแทนและแฟลตตำรวจ ซึ่งดีเอสไอเห็นว่าไม่ถูกต้องนั้น ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนอภิสิทธิ์หัวหน้าพรรค ปชป. และสุเทพ สส.สุราษฎร์ธานี พรรค ปชป. ที่เข้าข่ายความผิดแล้ว
ส่วนเรื่องการรวมสัญญาการสร้างโรงพักทดแทนและแฟลตตำรวจ ซึ่งดีเอสไอเห็นว่าไม่ถูกต้องนั้น ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนอภิสิทธิ์หัวหน้าพรรค ปชป. และสุเทพ สส.สุราษฎร์ธานี พรรค ปชป. ที่เข้าข่ายความผิดแล้ว
3.คดีต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ดีเอสไอร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และพวกต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายออกไป 13 ปี และการขยายเส้นทางสัมปทานใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก รมว.มหาดไทย เข้าข่ายร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค หรือกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยทันทีที่ดีเอสไอขยับคดีนี้ในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อต้นปี 2556 ส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ออกอาการเซไม่น้อย ก่อนที่จะสรุปสำนวนส่งให้อัยการฟ้องศาลแต่ล่าสุดอัยการตีกลับสำนวนคืนมาที่ดีเอสไอ เนื่องจากเห็นว่า ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจไต่สวนคดีนี้ ทำให้ดีเอสไอต้องส่ง ป.ป.ช.รับไม้ต่อแทน
4.คดีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 ในวงเงินงบประมาณ 5,300 ล้านบาท ที่คณะทำงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปสำนวนคดีพิเศษ กล่าวหา ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต รมว.ศึกษาธิการ นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ และพวก ในมาตรา 157
5.คดีเงินบริจาคเข้าพรรค ปชป. ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยุติการสอบคดีเงินบริจาคเข้าพรรค ปชป. ด้วยการหักเงินเดือน สส. ระบุไม่ขัด พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะเป็นการกระทำโดยสุจริต สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินได้และจะไม่ส่งความเห็นใดๆ ให้ดีเอสไอ ซึ่งคดีนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษกับ สส.พรรค ปชป. จำนวน 48 คน โดยมี สส.15 คน ไม่มารับทราบข้อกล่าวหา
จากคำพูดของธาริตที่เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นฝ่ายปฏิบัติ และดีเอสไอก็เป็นฝ่ายปฏิบัติ ถ้าไม่เป็นเครื่องมือให้รัฐบาลแล้ว แล้วจะให้เป็นเครื่องมือใคร
จึงไม่แปลกหากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะตกรางวัลให้กับธาริตอีก 1 ปี โดยหวังผลสูงสุดถึงการยุบพรรค ปชป.