การทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต หรือธุรกิจ E – Commerce ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายผ่านโซเชียลเน็ทเวอร์ค เช่น Facebook Instagram E-bay เป็นต้น หลายคนมีความเข้าในว่า การทำธุรกิจดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น บทความนี้จะได้กล่าวถึงความรับผิดทางภาษีต่างๆ ของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว
บุคคลผู้มีเงินได้ทุกคนไม่ว่าจะมีเงินได้จากแหล่งใดก็ตามมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย และเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับภาษี E-Commerce โดยเฉพาะ ดังนั้น การประกอบธุรกิจออนไลน์ หรือ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจึงเป็นเพียงการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายเท่านั้น สำหรับการเสียภาษีก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เดิม โดยผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเสียภาษีภายใต้ประมวลกฎหมายรัษฎากรเหมือนธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณี ซึ่งคำนวณจากเงินได้ของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปีตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่าบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ นอกจากนี้ หากมีการจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าที่ต่างประเทศผู้ประกอบการจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างไรก็ตาม การซื้อขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือไม่สามารถจับต้องได้ เช่น โปรแกรม ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้นธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตรัฐต้องการให้ผู้ค้าแสดงตนเพื่อเข้าระบบการเสียภาษี หากผู้ค้าไม่เข้าระบบไม่แจ้งไม่แสดงตน กรมสรรพกรก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ จึงยากที่จะเข้าไปจัดการให้ผู้ค้าต้องเสียภาษีตามกฎหมายได้เช่นกัน