วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554
แถลงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กทม.
วันที่ 24 ต.ค. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แถลงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กทม. ภายหลังออกประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 4 ให้พื้นที่ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน จตุจักร บางสื่อ และสายไหม เป็นพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง เนื่องจากเกรงว่าน้ำเหนือบริเวณรังสิต ปทุมธานี จะไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่
สำหรับระดับน้ำในคลองต่างๆ นั้นยังอยู่ในระดับปกติ ในส่วนของคลองหกวาสายล่าง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 10 เซนติเมตร คลองเปรมประชากรระดับน้ำสูงล้นตลิ่ง คลองทวีวัฒนาฝั่งธนบุรี เพิ่มขึ้น 7 ซม. นอกจากนี้ยังท่วมขัง ถ.สิรินธร ถ.พหลโยธิน ถ.วิภาวดี-รังสิต ถ.สายไหม ตั้งแต่วัดหนองใหญ่ถึงซอยเพิ่มสิน และ ถ.แจ้งวัฒนะเป็นช่วงๆ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร
ส่วนสถานการณ์พื้นที่ด้านเหนือ กทม. คาดว่าบางพื้นที่อาจมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้คลองเปรมประชากรหน้าสน.ดอนเมือง ระดับน้ำสูงใกล้ถึงขอบตลิ่ง เนื่องจาก กทม. เปิดประตูระบายน้ำเพิ่ม เพื่อเร่งระบายน้ำที่เข้ามาในพื้นที่คันกั้นน้ำ ทำให้น้ำในคลองมีระดับที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสำนักการระบายน้ำ กทม. เร่งสูบน้ำไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อควบคุมน้ำในคลองให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก และดำเนินการเรียงกระสอบทรายบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติด้าน ถ.วิภาวดี-รังสิต และ ถ.พหลโยธิน เพื่อป้องกันน้ำทะลักท่วมพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับพื้นที่ด้านตะวันออกของ กทม. มีน้ำท่วมขัง 88 จุด เนื่องจากมีฝนตกลงในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังโดยเฉพาะตามถนนและชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองซึ่งมีระดับต่ำ อีกทั้งน้ำในคลองท่วมสูงจากน้ำเหนือและล้นแนวคันกั้นน้ำ ทำให้มีน้ำท่วมถนนและหมู่บ้านต่างๆ ประมาณ 15-35 ซม. โดยจุดที่น้ำท่วมขังมากที่สุด คือ เขตหนองจอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ริมคลอง เช่น แนวริมคลองสามวา ชุมชนวัดตาหนวด ถ.ประชาร่วมใจ โดย กทม. ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและวางแนวกระสอบทรายแล้วทุกจุด
ขณะที่ด้านตะวันตกของ กทม. มีน้ำท่วมขัง 8 จุด โดยเฉพาะถนนและชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย คอลงภาษีเจริญ คลองทวีวัฒนา อีกทั้งมีการเร่งระบายน้ำจาก จ.นนทบุรี ออกสู่ทะเลทำให้ระดับน้ำในคลองวันนี้สูงเอ่อล้นตลิ่ง
ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้นนั้น เกิดจากน้ำรั่วซึมแนวกระสอบทรายซึ่งเป็นแนวป้องกันชั่วคราวในบริเวณต่างๆ อาทิ สะพานพระราม 7 หน้า ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเกิดจากแนวป้องกันของ บ. CPAC พัง 50-60 ซม. ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำ กทม. ได้ดำเนินการแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ตนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ กทม. เร่งดำเนินการดูแลเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจไหลเข้าท่วมพื้นที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.เขตพระราชฐานในพื้นที่ต่อเนื่องจาก 6 เขตข้างต้น ซึ่งอาจกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือเป็นพิเศษ 2.ให้สำรวจพื้นที่บริเวณสนามบินดอนเมือง เพื่อเตรียมแผนหาทางเข้าออกของให้พร้อม
หากเกิดกรณีน้ำท่วมถนนวิภาวดีรังสิต จะต้องเปิดทางเข้าออกสนามบินดอนเมืองทางด้านอื่น เพื่อให้ ศปภ. ยังทำงานต่อไปได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ ศปภ. เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของทั่วประเทศจะให้อะไรเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งกทม.เป็นเจ้าบ้านจึงต้องดูแล ศปภ.ให้ดีที่สุด และ 3.ประสานไปยังนิคมอุตสาหกรรม ลาดกระบังและบางชัน ที่อยู่ในพื้นที่ที่ทางน้ำจะผ่าน ให้เตรียมพร้อมป้องกันเต็มที่ ให้เสริมคันกั้นน้ำให้แข็งแรง เพราะมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ พร้อมให้พิจารณาเรื่องการป้องกันสารเคมี สารพิษ ที่อาจปนเปื้อน หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้น