วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สถานประกอบการ 45 แห่ง อ้าแขนรับแรงงานกรุงเก่า 9 พันคน


     วันนี้ (11 ต.ค. ) นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ที่จะมีมาตรการให้สถานประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมสามารถยืมแรง งานจากสถานประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบให้มีรายได้ โดยได้มีการประชุมร่วมกับสถานประกอบการทั้ง 60 แห่ง ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งมีสถานประกอบการกว่า 45 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ปราจีน ฉะเชิงเทรา พร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยมีความต้องการแรงงานกว่า 8,824 อัตรา
       โดยทางกรมการจัดหางานจะ ประสานฝ่ายบุคคลของสถานประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ที่ จ.อยุธยา เพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ โดยประเภทกิจการและตำแหน่งงานว่างดังนี้ 1.ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ 2,567 อัตรา 2. แปรรูปสเตนเลสเหล็ก 57 อัตรา 3.ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 20 อัตรา 4.อาหาร/บะหมี่ 370 อัตรา 5.คลังสินค้า/Logistic 365 อัตรา 6.ผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษ/สเปรย์ 40 อัตรา 7.รับเหมาแรงงาน 3,150 อัตรา 8.ผลิตภัณฑ์พลาสติก 464 อัตรา 9.เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลกทรอนิกส์ 1,050 อัตรา 10.เคมีภัณฑ์ 13 อัตรา 11.วัสดุก่อสร้าง 16 อัตรา 12.เครื่องฉีดพลาสติก 311 อัตรา 13.ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 100 อัตรา 14.ค้าปลีก 75 อัตรา 15.ดูแลอสังหาริมทรัพย์ 155 อัตรา
   
       ทั้งนี้ หากแรงงานต้องการหาตำแหน่งงานเอง ทางข้อมูลจากกองวิจัยแรงงาน กรมการจัดหางาน ระบุข้อมูลตำแหน่งงานว่าง ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2554 ว่า ทั่วประเทศมีจำนวนตำแหน่งงานว่างทั้งหมด 55,130 อัตรา โดยไม่รวม 6 จังหวัด ที่ประสบภัย ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา ลพบุรี สิงหบุรี นครสวรรค์ สามารถติดต่อได้ที่กองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน 0-2245 -1693 และสามารถติดต่อจัดหางานใน 4 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี 038-398054 ระยอง 038-694022-8 ปราจีน 037-454021-3 ฉะเชิงเทรา 038-515-034
   
       วันเดียวกัน วันนี้ (11 ต.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มี 4 บริษัทในจังหวัดปทุมธานี คือ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทอสเท็มไทย จำกัด บริษัท โตมิ จำกัด และบริษัทในเครือเซนทาโก แจ้งว่า พร้อมเข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปทำงานชั่วคราว ระหว่างรอโรงงานเปิดกิจการ โดยไม่จำกัดจำนวน ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังน้ำลด
   
       ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่สามารถทำได้ทันทีนั้น เนื่องจากระดับน้ำยังสูง จึงยากต่อการทำข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมไปถึงปัญหาในการเดินทางไปทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับนายจ้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเรื่องของค่าจ้าง ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ช่วง 1-2 เดือนนี้ นายจ้างยังช่วยจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างอยู่ ส่วนในการโอนย้ายคนงานตามโครงการนี้นายจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วย
   
       สายด่วน สปส.ขอความช่วยเหลือพุ่ง
   
       นายจีระศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 7-10 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มบริการในการสอบถามข้อมูลและประสานความช่วยเหลือ ให้กับผู้ใช้แรงงาน และสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย ผ่านสายด่วน 1506 ล่าสุด มีผู้ใช้แรงงานและสถานประกอบการโทรมาขอความช่วยเหลือ จำนวน 84 สาย
   
       ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะสอบถามเรื่องสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานของสำนักงานประกันสังคมสำหรับโรงงานที่ถูกน้ำ ท่วม รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่จะได้รับหากถูกเลิกจ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้รับเรื่อง เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ
   
       อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สถานการณ์อุทกภัยรุนแรงขึ้น มีผู้ประกันตน เจ้าของสถานประกอบการและประชาชน โทร.เข้ามาสอบถามข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ซึ่งส่วนใหญ่จะโทร.เข้ามาในช่วงเวลา 12.00-24.00 น.ขณะที่มาตรการช่วยเหลือ ณ ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้เสนอมาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป
   
       เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกว่า สำหรับ ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยในพื้นที่ประสบอุทกภัย สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนประสบปัญหาขอให้ติดต่อขอรับการช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง