ผู้ว่าฯ กทม.ยอมรับพื้นที่ 4 เขตฝั่งตะวันออกของ กทม.เสี่ยงวิกฤตน้ำท่วมหนัก แต่ยืนยันสามารถรับมือได้ ระบุ กทม.สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่คลองหลักสามารถรับน้ำได้ 13 ลบ.ม.ต่อวัน
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วม กทม.ที่เขตหนองจอก ซึ่งเป็นพื้นที่จุดเสี่ยงถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เพราะเป็๋นพื้นที่รับน้ำจากคลองสิบสาม ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนในเขตกรุงเทพฝั่งตะวันออก 4 เขตที่เป็นจุดเสี่ยงอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ คือ เขตหนองจอก มีนบุรี คลองสามวา และลาดกระบัง ให้เตรียมสถานที่หากต้องมีการอพยพ
โดยจะอพยพ คนแก่ และผู้พิการ ออกมาอยู่ที่ศูนย์ที่โรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม.แต่ละเขต และโรงเรียนในสังกัด กทม. และกระจายไปในจุดต่าง ๆ และได้เตรียมความพร้อมทรายไว้ 5 แสนลูก เตรียมงบไว้รองรับปัญหาน้ำท่วม 1,000ล้านบาท โดยเฉพาะวันที่ 16-17 ต.ค. นี้ ที่น้ำทะเลจะหนุนสูงสุด รวมถึงน้ำจากภาคกลางจะถึง กทม. ขณะเดียวกันก็ห่วงเขตดอนเมือง และสายไหม แต่ 2 เขต ยังถือว่าอยู่ในแนวคันกั้นน้ำจึงน่าจะรับมือได้
ส่วนกรุงเทพฝั่งตะวันตก จะมีการผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนลงทะเลและอาจทำให้น้ำจากจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ไหลบ่านั้น ยืนยันกรุงเทพฝั่งตะวันตกมีคลองทวีวัฒนา และคลองมหาสวัสดิ์ ที่จะรับน้ำและระบายลงทะเล อีกทั้งมีพื้นที่แก้มลิงสนามไชย ที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร รองรับน้ำอีก
โดยพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถระบายน้ำได้ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่คลองทวีวัฒนา คลองประเวศ และคลองแสนแสบ สามารถรับน้ำได้ทั้งหมด 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้รับน้ำไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ และพร้อมเปิดประตูรับน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะผันน้ำจากคลองแสนแสบ และประเวศไปที่คลองพระโขนง ผ่านอุโมงค์ยักษ์ ผันน้ำลงทะเลที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซอยสุขุมวิท 50
ขณะที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต กทม. มีเขื่อนคันกั้นน้ำ 71 แห่ง และมีพื้นที่แก้มลิง ทั้งหมด 21 แห่ง ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะสามารถรับน้ำได้ แต่ก็ไม่ประมาทและยอมรับพื้นที่ริมคูคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา จะท่วมอย่างแน่นอน แม้จะมีการป้องกัน เพราะไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์