ชี้คดี'เรือขุด'เป็น'มหากาพย์คดีค่าโง่'
“อลงกรณ์” ชี้ คดี “เรือขุด” เป็น “มหากาพย์คดีค่าโง่” ซัด “ป.ป.ช.” ทำงานอืด จี้ ควรทำให้เร็วกว่านี้ เผย ร้องเรียนมา เกือบ10 ปี ไม่คืบ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ถูกศาลอุทรณ์พลิกคำสั่งในศาลชั้นต้น ให้ติดคุก 10 ปี ในคดีที่นายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า ร่วมทุจริตจัดซื้อเรือขุด พร้อมลูกน้องอีก 5 คน แก้ไขสัญญา จนรัฐเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่จำเลย ยื่นขอประกันตัวทันที วงเงินคนละ 1 ล้านบาท ก่อนจะเตรียมยื่นฎีกาสู้คดีว่า เขาเรียกว่าเป็นคดีค่าโง่เรือขุดแฮริคอร์ต 2,000 ล้าน
ทั้งนี้ เขาเคยยื่นตรวจสอบตั้งแต่ปี 2539 ปลายรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในปี 2545 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความอับยศ ในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการไร้ประสิทธิภาพ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาษีของประชาชน เพราะได้จ่ายเงินไปเกือบ 2,000 ล้าน แต่กลับไม่ได้เรือขุดมาเป็นของประเทศไทยแม้แต่ลำเดียว เขาได้ทำการท้วงติงจนกระทั่งต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ส่วนจำเลยในคดีดังกล่าวเตรียมยื่นฎีกาสู้คดีนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์โดยชอบของจำเลย แต่ขึ้นอยู่กับดุลย์พินิจของศาล เขาไม่ขอพาดพิงถึงคำตัดสินหรือก้าวล่วง แต่กรณีนี้ป็นตัวอย่างหนึ่งของความอับยศ ที่เสียทั้งเงินและค่าโง่ในการบริหารโครงการ ซึ่งควรเป็นอุทธาหรณ์ต่อไป ในเรื่องของการกำกับดูแลโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และจะต้องรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะ และการติติงของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่เหมือนกรณีเรือขุด
“กรณีเรือขุดควรนำมาเป็นกรณีศึกษา ที่แม้แต่กระทรวงทบวงกรมต่างๆหรือคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ควรจะได้ศึกษาเป็นตัวอย่างเพราะว่า เป็นองค์กรที่สอบทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดสเปคขั้นตอนการประมูล จนมาถึงการบริหารโครงการดังกล่าว ซึ่งประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงแม้ว่า จะถูกตรวจสอบท้วงติงทั้งในระดับกรรมาธิการ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ"
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ปปช.ควรจะแจ้งต่อสาธารณชน ถึงความคืบหน้า เพราะเป็นเวลา 9 ปีแล้วที่เขาได้ยื่นเรื่องไป ซึ่งการตรวจสอบควรที่จะเร็วกว่านี้ เพราะเวลาเนิ่นนานมามากแล้ว ย่างเข้าปีที่ 10 แล้ว ควรจะสรุปผลการตรวจสอบและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ
เรื่องนี้เป็นมหากาพย์ตั้งแต่ขั้นตอนการประมูลมีการล๊อคสเปคกัน แล้วที่บอกว่า เป็นค่าโง่เพราะบริษัทนี้ไม่มีประสบการณ์การต่อเรือขุด แล้วพอมีปัญหาไม่สามารถที่จะส่งมอบได้ ก็ขอที่จะให้บริษัทไทยต่อเรื่อขุด ซึ่งบ่งบอกว่า มีความไม่ชอบมาพากล เพราะถ้าบริษัทไทยสามารถต่อเรือขุดได้ทำไมถึงถูกกีดกันไม่ให้เข้าประมูล แล้วบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ในการต่อเรือผลิตหัวสว่าน กลับเป็นบริษัทเดียวที่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งเข้าข่ายการล๊อกคเปค
ทั้งนี้ ในปี 2539 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ตอนนั้นมีบริษัทเข้ามาเสนอตัว 5 บริษัทแต่ตกคุณสมบัติหมด ผ่านเทคนิคเพียง 1 ราย คือ แฮริคอร์ต แมชชีนคอร์เปอเรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่ผ่าน เท่ากับไม่มีการประกวดราคาไม่มีการแข่งขัน
"ผ่านได้ยังไงในเมื่อมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 แสนเหรียญ มูลค่าโครงการ 50 ล้านเหรียญ ที่สำคัญคือตอนเซ็นสัญญาแอบไปเซ็นกันที่โรงแรมอะไรก็ไม่รู้" นายอลงกรณ์ ระบุ