วันนี้ (21 ก.ค.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม แถลงข่าวผลการดำเนินงานคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารและเฝ้าระวังโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อวิทยุชุมชุนและเคเบิลทีวี อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความ ปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากกรรมการผู้จัดการบริษัท โฆษณารายหนึ่ง กรณีนำเสนอส่วนประกอบของรังนกสำเร็จรูปผ่านป้ายโฆษณาของตนว่า รังนกสำเร็จรูปชื่อดัง ใส่รังนกแท้แค่ 1% เศษ แล้วโดนผู้ประกอบการเครื่องดื่มรังนกร้องสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และได้รับคำตัดสินจากสมาคม ว่า เป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณา แต่ตนไม่เห็นด้วยในคำตัดสิน จึงได้มาร้องมูลนิธิช่วยพิจารณา
“หลังจากการศึกษาข้อมูลโดยเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปเท่าที่หาได้ ในตลาดจำนวน 4 ตราสินค้า เน้นเรื่องส่วนประกอบของอาหาร พบว่า ประเด็นที่ผู้ร้องนำเสนอนั้นเป็นข้อมูลจริงจากฉลากอาหารของผลิตภัณฑ์ โดยจำนวน 3 จาก 4 ตราสินค้า มีรังนกแห้งเป็นส่วนประกอบ แค่ 1% เศษจริง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นกำลังใจให้กับผู้ร้องในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ผ่านสื่อโฆษณาของตนต่อไปและพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อสู้คดีในกรณีที่ถูกฟ้อง ร้องจากบริษัทผู้ประกอบการบริษัทผลิตรังนกสำเร็จรูป” น.ส.สารี กล่าว
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้าน อาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีรังนกสำเร็จรูปนี้ ในเรื่องของการแสดงส่วนประกอบ พบว่า ในสองตราสินค้า คือ สก็อต และ แบรนด์ ระบุแค่น้ำตาลกรวด 10-12% กับ รังนกแห้งที่ 1.1-1.4% ส่วน เอฟแอนด์เอ็น โกลด์ ระบุว่า มี นมโค 19% รังนกแห้ง 0.16% (เป็นวงเล็บ) นมผงขาดมันเนย 4.8% และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย ทั้ง 3 ตราสินค้านี้เมื่อรวมส่วนประกอบของแต่ละตราสินค้าจะไม่มีตราสินค้าใดครบ 100% ประเด็นคำถาม คือ แล้วส่วนประกอบส่วนใหญ่ที่ขาดหายไปคืออะไร สภาพวุ้นที่มีในสินค้าแต่ละขวดเป็นส่วนประกอบของอะไร มีเพียงตราสินค้าเดียวที่แสดงส่วนประกอบครบ 100% คือ เบซซ์ ที่ระบุว่า มีน้ำ 83.8% น้ำตาลกรวด 15.0% และ รังนก (ก่อนต้ม) 1.2% เป็นส่วนประกอบ นอกจากเรื่องส่วนประกอบที่ได้แจ้งไปแล้ว “ยังมีประเด็นปัญหาอื่นด้านฉลากที่ก่อให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้ใช้คำว่า รังนกแท้ ก่อให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภคในส่วนประกอบได้ โดยทำให้ผู้บริโภคคาดหวัง สัดส่วนของเนื้อรังนกในปริมาณที่สูงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่ได้ สนใจเรื่องว่าเป็นรังนกแท้ๆ ที่ไม่ใช่รังนกปลอม (มีใช้คำนี้ใน 2 ตราสินค้า คือ สก็อต และแบรนด์ ขณะที่อีก 2 ตราสินค้าที่เหลือใช้แค่คำว่าเครื่องดื่มรังนก) นอกจากนี้ การอนุญาตให้ใช้ข้อความบนฉลากโดยใช้คำว่า 100% จากถ้ำธรรมชาติ ถือเป็นการอ้างแหล่งที่มาและอาจจะเข้าข่ายการโฆษณาบนฉลากหรือไม่ โดยที่ผู้บริโภคทั่วไป เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้ได้รับการรับรองจากจากอย. ซึ่งอย.ควรจะต้องชี้แจงข้อเท็จจริง ว่า อย.สามารถรับรองตามที่ผู้ประกอบการอ้างได้จริงบนฉลากทุกขวดหรือไม่” นายพชร กล่าว