วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
จุฬาฯ เปิดตัวหุ่นยนต์ผ่าตัด ทุ่มงบรัฐ 100 ล้าน จัดซื้อจากสหรัฐ เผยเทคโนโลยีสุดเจ๋ง เตรียมเปิดโครงการผ่าตัดถวายเป็นพระราชกุศล 84 ราย เดือน ก.ย.นี้
วันที่ 28 ก.ค. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวหุ่นยนต์ผ่าตัด (robotic surgery) เครี่องแรกของประเทศไทย โดยหุ่นยนต์ดังกล่าว เป็นหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ยี่ห้อดาวินซี (Da Vinci) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ฯ ได้จัดซื้อด้วยงบประมาณจากสำนักงบประมาณ จำนวน 108 ล้านบาท และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่แพทย์คุมการผ่าตัดนอกห้องผ่า โดยใช้แขนหุ่นยนต์ส่องเข้าไปผ่าตัดในตัวผู้ป่วย สามารถลดปัญหาแทรกซ้อนในตัวผู้ป่วยได้ดี ซึ่งจุฬาฯ ตั้งเป้าจะให้ศัลยแพทย์ใช้หุ่นยนต์มากที่สุด และใช้ในการศึกษาด้วย หุ่นยนต์ผ่าตัดของจุฬาฯ เป็นชนิดฟูลออฟชั่น มีเครื่องคุมการผ่าตัด 2 ชุด สามารถใช้ศัลยแพทย์ 2 คน ช่วยผ่าตัด จากนี้ จุฬาฯ จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องคือ ในวันที่ 17 ส.ค. จะมีการประชุมวิชาการ เพื่อให้ความรู้แก่แพทย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด และในเดือน ก.ย.จะเปิดโครงการผ่าตัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 7 รอบ จัดผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ฟรี 84 ราย ซึ่งในเดือน ก.ย.นี้ ที่เปิดโครงการจะมีรายละเอียดเรื่องแผนงานที่ชัดเจนอีกครั้ง
นพ.เกรียงศักดิ์ ประสพสันติ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เราได้มีการใช้กล้องส่องผ่าตัดมาหลายปี เพราะมีประโยชน์ที่ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ต่อมา ได้มีการพัฒนาสร้างหุ่นยนต์ผ่าตัด ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพรายละเอียดการผ่าตัดเป็นสามมิติ กำลังขยาย 10 เท่า การเคลื่อนไหวในช่องเล็ก ๆ สามารถทำได้มากขึ้น ซึ่งเราได้มีหุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีแขนกลทำหน้าที่แทนตา และแขน อันสามารถขยับได้ใกล้เคียงกับมือของศัลยแพทย์ โดยหุ่นยนต์ผ่าตัดนี้ จะเริ่มใช้ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นแห่งแรก
รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวว่า การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดด้านนรีเวช จะมีประโยชน์ในการผ่ามะเร็งในบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ลึก และมีความซับซ้อน หุ่นยนต์ผ่าตัดจึงเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ป่วยกลุ่มนรีเวช โดยเฉพาะมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งปากมดลูก และยังใช้ในงานนรีเวชอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยความแม่นยำ ละเอียดถี่ถ้วน เช่น การแก้หมันหญิง ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อยลง มีการฟื้นตัวเร็วขึ้น ในด้านนรีเวช คาดว่า จะสามารถดำเนินการใช้หุ่นผ่าตัดได้ในเดือน ก.ย.นี้ และต่อไปจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้คุ้มค่า เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของบ้านเรา
ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล ศัลยแพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่า ในด้านศัลยกรรมระบบปัสสาวะ มีการใช้เครื่องนี้จำนวนมาก โดยงานที่คุ้มค่า คือ การผ่าตัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้น ต่อมลูกหมากนั้นอยู่ลึก และเป็นบริเวณที่ละเอียดอ่อน การใช้หุ่นผ่าตัด จะช่วยรักษาเส้นประสาทได้ดี แก้ปัญหาเรื่องการแข็งตัวขององคชาติ และอาการปัสสาวะเล็ดภายหลังผ่าตัดได้ นอกจากนี้ ยังใช้ผ่าตัดมะเร็งไตได้ดี ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ไม่ตอบสนองต่อการทำคีโม ต้องผ่าตัดอย่างเดียว เดิมการผ่าตัดต้องเอาไตออก แต่การใช้หุ่นจะช่วยแก้ปัญหานั้น และลดการเสียเลือดได้ดี ซึ่งไตนั้นมีเลือดไปหล่อเลี้ยงถึงร้อยละ 25 ที่ออกจากหัวใจ จึงต้องลดการเสียเลือด ที่ผ่านมา ในช่วง 2 เดือน การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด สามารถผ่ามะเร็งต่อมลูกหมากได้แล้ว 4 ราย ผ่าตัดกรวยไตเสีย 1 ราย ตัดไตเสื่อม 1 ราย
นพ.สุเทพ อุดมแสวงพันธ์ ศัลยแพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่า การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มีความเที่ยงตรงสูงมาก ซึ่งการผ่าตัดนี้ อาจใช้เวลานานกว่าระบบส่องกล้อง หรือผ่าตัดด้วยมือศัลยแพทย์ แต่แผลเล็ก เวลาพักพื้นสั้น นอนโรงพยาบาลไม่นาน ความเจ็บปวดน้อยมาก ค่าใช้จ่ายอาจยังสูงอยู่ แต่จะมีประโยชน์ในการผ่าตัดหลายอย่าง ทั้งศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ศัลยศาสตร์ทรวงอก สูตินรีเวช และศัลยศาสตร์ทั่วไป.